ไข้หวัด

ไข้หวัด หรือ ไข้หวัดทั่วไป (Common Cold) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณ ทางเดินหายใจส่วนบน เช่นจมูก คอ ไซนัส และกล่องเสียง โดยเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัด มีสายพันธุ์ย่อย ๆ มากกว่า 200 ชนิด เลยทีเดียว

ไข้หวัดจะมีระยะฟักตัวของโรค 1-3 วัน ความรุนแรงของอาการจะมีมากในช่วง 2-3 วันแรก ก่อนจะค่อย ๆ ทุเลาลง โดยอาการของไข้หวัด จะมีดังต่อไปนี้

ไข้หวัด

-มีไข้ต่ำ ครั่นเนื้อครั่นตัว และปวดศีรษะเล็กน้อย (ในเด็กอาจมีไข้สูงเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ก็ได้)

-น้ำมูกไหล มักเป็นน้ำมูกใส ๆ ไม่ข้น (ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้เกิน 4 วัน หรือมีน้ำมูกเข้มข้นเหลือง)

-คัดจมูก หายใจได้ไม่สะดวก

-ไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะใส หรือขาว ๆ จามบ่อยครั้ง แม้ไข้หวัดจะดีขึ้นแล้วแต่ผู้ป่วยอาจมีอาการไออยู่ต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะหายเป็นปกติ

-เสียงแหบ

-ปวดศีรษะ หรือปวดหู หากมีอาการปวดหูมาก อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่หู

-ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย

-มีอาการระคายเคืองที่ดวงตา หรือมีตาแดง ขี้ตา

ไข้หวัด VS ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร

เชื่อว่าหลายคนสับสันระหว่าง อาการของไข้หวัดทั่วไป กับ ไข้หวัดใหญ่ มาดูวิธีสังเกตกัน

1. สาเหตุ

ไข้หวัดทั่วไป – เกิดจากเชื้อไวรัสหลายสายพันธุ์
ไข้หวัดใหญ่ – เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา

2. อาการไข้

ไข้หวัดทั่วไป – เป็นไข้ต่ำ ๆ

ไข้หวัดใหญ่ – ไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส 2-4 วัน (อาจมีอาการหนาวสั่น)

3. อาการไอ จาม เจ็บคอ

ไข้หวัดทั่วไป – จาม เจ็บคอบ่อย มีอาการไอแห้ง ๆ หรืออาจมีเสมหะสีขาว

ไข้หวัดใหญ่ – ไอบ่อย ไอรุนแรง จาม เจ็บคอ คออักเสบได้

4. อาการปวดหัว

ไข้หวัดทั่วไป – อาจปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย

ไข้หวัดใหญ่ – ปวดหัวมาก และปวดตามตัว

5. อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

ไข้หวัดทั่วไป – อาจคลื่นไส้ ท้องเสียได้บ้าง

ไข้หวัดใหญ่ –คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง

6. วิธีรักษา

ไข้หวัดทั่วไป – กินยาลดไข้ นอนพักผ่อนมาก ๆ หายได้ใน 2-4 วัน

ไข้หวัดใหญ่ –กินยาฆ่าเชื้อไวรัส / ยาลดไข้ หายได้ใน 1-2 สัปดาห์

โรคไข้หวัด ติดต่อสู่กันทางไหนบ้าง
เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อได้ดังนี้

1. การหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ หรือจามรด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เมตร

2. ติดต่อโดยการสัมผัส เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วย สิ่งของ เครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้มน้ำ จาน ชาม โทรศัพท์ เป็นต้น หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด เช่น ลูกบิดประตู, โต๊ะเก้าอี้ เชื้อหวัดก็จะติดมือของคนนั้น และเมื่อเผลอใช้นิ้วมือขยี้ตา หรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนคนนั้น จนกลายเป็นไข้หวัดได้

โรคแทรกซ้อนของไข้หวัด
เมื่อคนเราป่วยเป็นไข้หวัด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจมีโอกาสแพร่เชื้อร่วมกับเชื้อไวรัสได้ จึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ได้

ต่อมทอนซิลอักเสบ
ไซนัสอักเสบ
หูชั้นกลางอักเสบ
หลอดลมอักเสบ
ปอดอักเสบ
สำหรับเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้ บางรายเสียงแหบเนื่องจาก กล่องเสียงอักเสบ
โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดกับคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนัก หรือขาดอาหาร เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อเป็นหวัดควรนอนพักผ่อนให้มาก ๆ อย่าหักโหมงานเยอะ สำหรับพนักงานออฟฟิศ หรือพนักงานเงินเดือน อาจใช้สิทธิ์ลาป่วย เพื่อนอนพักผ่อนให้เต็มที่สัก 1 วัน แล้วจึงไปทำงานในวันถัดไป พร้อมทั้งใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคสู่ผู้อื่น

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ otvorenidirektorijum.com