วัยทอง

วัยทอง สัญญาณเตือนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงสูงอายุที่หลายๆ คนต้องก้าวผ่านช่วงนี้ อาการเป็นอย่างไร เริ่มต้นที่อายุเท่าไร

อาการวัยทอง
วัยทอง หรือวัยหมดระดู คือภาวะที่ผู้หญิงขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบอวัยวะต่างๆ โดยมากมักพบในอายุประมาณ 50 ปี แต่ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่ช่วงอายุ 30 กลางๆ และจะแปรปรวนแบบสังเกตได้ชัดเจน เมื่ออายุประมาณ 40 ปี

อาการวัยทองเกิดขึ้นในช่วงที่รังไข่เริ่มหยุดทำงาน ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือเพียงระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการรุนแรง จนกระทบกับการใช้ชีวิต โดยสามารถสังเกตอาการสำคัญต่างๆ ได้ดังนี้

วัยทอง

1. อาการร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกในตอนกลางคืน
อาการร้อนวูบวาบในวัยทองเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ อาการร้อนวูบวาบ มักเป็นความรู้สึกที่แผ่จากบริเวณหน้าอกขึ้นไปที่ลำคอและใบหน้า มักเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออก และตามมาด้วยอาการหนาวสั่น อาการเหล่านี้อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันหากเกิดในตอนกลางคืนอาจรบกวนการนอนหลับ

2. การมาของประจำเดือนเปลี่ยนไป
อาการที่สังเกตได้ชัดเจนในช่วงวัยทองคือการมาของประจำเดือนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บางรายประจำเดือนอาจขาดและหายไปเลย ในขณะที่บางรายจะค่อยๆ น้อย และหมดลงถือว่าปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีเลือดออกนานขึ้นเกิน 7 วัน หรือออกกะปริดกะปรอยผิดปกติ ควรตรวจหาสาเหตุให้ละเอียด

นอกจากนี้ควรระวังโรคมะเร็งไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ใช่อาการวัยทอง เพราะบางคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นอาการปกติในช่วงวัยทองจึงไม่ได้ทำการตรวจให้ละเอียด หรือไปรับประทานยา ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ รวมทั้งสมุนไพรบางชนิดเพื่อขับถ่ายหรือกำจัดของเสียในร่างกาย จนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกผิดปกติ หรือปวดท้องบริเวณท้องน้อย และเมื่อมาพบแพทย์อาการก็ลุกลามไปมากแล้ว

3. ช่องคลอดแห้ง
อาการวัยทองที่พบได้คือ ช่องคลอดแห้ง เพราะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบๆ ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะมีการฝ่อลีบ และหย่อนตัว เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือหัวเราะ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย

4. ผิวเหี่ยวและเล็บเปราะ
เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผิวหนังจะเหี่ยวแห้งและบางลง เกิดรอยช้ำได้ง่าย มีอาการคัน เล็บเปราะหักง่าย ผมร่วง หรือบางลง เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และการเปลี่ยนไปตามวัย ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียคอลลาเจน ความหนาของผิวลดลงหลังหมดประจำเดือน

5. มีอาการซึมเศร้า
พบภาวะซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย กังวล กระวนกระวาย ขาดสมาธิในการทำงาน และนอนไม่หลับได้บ่อยขึ้นในช่วงวัยทอง แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นผลมาจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาการทางจิตใจในช่วงวัยทองนี้มักมาจากประสบการณ์ที่ไม่ดีในชีวิต ความกังวลเกี่ยวกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่วัยชรา รวมทั้งสูญเสียความมั่นใจที่รูปลักษณ์ไม่สวยงามเหมือนในอดีต ความรุนแรงขึ้นอยู่กับสภาพสังคมแวดล้อมด้วย

6. กระดูกพรุน
เมื่อผู้หญิงเข้าสู่ช่วงวัยทองจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย ซึ่งปกติแล้วร่างกายเราจะมีการสร้างกระดูกใหม่และสลายกระดูกเก่าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นที่มีการสร้างกระดูกใหม่มากกว่าการสลายกระดูก แต่หลังอายุ 35 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกผู้หญิงไทยจะลดลงอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 0.3-0.5 ต่อปี

การสลายกระดูกในลักษณะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 5-10 ปี กระดูกจึงอาจบางลงจนเกิดกระดูกพรุนได้ในวัยนี้ หากไม่มีการป้องกันใดๆ อาจทำให้กระดูกหักได้แม้เพียงได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ผู้หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป จะไม่แสดงอาการใดๆ จะปรากฏเมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้นแล้ว โรคกระดูกพรุนจึงถือเป็นภัยเงียบของผู้หญิงวัยทอง

7. หลงลืมง่าย
อาการหลงลืมง่ายเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่วัยทอง ความสามารถในการจำชื่อคน หรือข้อมูลสำคัญลดลง โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง และพบเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุถึงร้อยละ 70 โรคนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังอายุ 65 ปี และพบในหญิงมากกว่าชาย เป็นมากในคนที่ไม่ค่อยใช้สมองคิดบ่อยๆ ดังนั้นผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทองไม่ควรปล่อยสมองให้อยู่นิ่ง ควรมีกิจกรรมให้สมองได้ทำงานบ่อยๆ เช่น การคิดเลข ต่อจิ๊กซอว์ เป็นต้น

8. โรคหัวใจและหลอดเลือด
การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงวัยทองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันเลว (LDL) ส่วนไขมันดี (HDL) จะลดต่ำลง ทำให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

หากพบว่าตนเองมีกลุ่มอาการดังกล่าวหลายอาการ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและดูแลปัญหาในวัยทอง

ข้อมูลอ้างอิง: โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลศิริราช ปิยราชมหาการุณย์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ otvorenidirektorijum.com