Health

  • โรคเท้าช้าง
    โรคเท้าช้าง

    โรคเท้าช้าง เป็นโรคที่เกิดจากหนอนพยาธิตัวกลมฟิลาเรีย มีลักษณะคล้ายเส้นด้ายอาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลืองของคน โดยมียุงเป็นพาหะนำโรค มีอาการที่เห็นได้ชัด คือ ขา แขน หรืออวัยวะเพศบวมโตผิดปกติ เนื่องจากภาวะอุดตันของท่อน้ำเหลือง

    โรคเท้าช้าง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบน้ำเหลืองที่มีหน้าที่ปรับสมดุลของเหลวในร่างกายและต่อสู้กับเชื้อโรค ทำให้มีอาการปวดบวมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นพิการถาวรได้ โรคนี้สามารถแพร่กระจายโดยมียุงเป็นพาหะ ซึ่งหากยุงกัดผู้ที่มีเชื้อนี้แล้วไปกัดผู้อื่น ก็จะทำให้ติดเชื้อได้

    โรคเท้าช้าง

    อาการของโรคเท้าช้าง

    – การติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยโรคเท้าช้างส่วนใหญ่มักไม่มีอาการของโรคปรากฏโดยอาจพบการปนเปื้อนของเชื้อจากการตรวจเลือดด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง ซึ่งแม้ไม่มีอาการใด ๆ ให้เห็น แต่การติดเชื้อชนิดนี้ก็จะส่งผลเสียหายต่อระบบน้ำเหลืองและไต ตลอดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่อาจกลับคืนสู่สภาพเดิมได้หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษา

    – การติดเชื้อเฉียบพลัน สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เมื่อร่างกายบางส่วนสูญเสียการป้องกันเชื้อโรคเนื่องจากระบบน้ำเหลืองเสียหาย การติดเชื้อเฉียบพลันแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

    1. การติดเชื้อเฉียบพลันชนิด Acute Adeno-Lymphangitis: ADL พบได้บ่อยกว่าการติดเชื้อแบบ AFL อาจสังเกตว่ามีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตจนเจ็บบริเวณขาหนีบและใต้วงแขน มีอาการเจ็บ ฟกช้ำ แดง บวมบริเวณที่ได้รับผลกระทบ และมักเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทับซ้อน โดยการติดเชื้อลักษณะนี้ใน 1 ปีจะเกิดขึ้นได้หลายครั้ง โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีความชื้นมากขึ้นบริเวณง่ามนิ้วเท้า นำไปสู่การติดเชื้อราที่จะทำให้ผิวหนังเกิดความเสียหายและเปิดโอกาสให้พยาธิชอนเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

    2. การติดเชื้อชนิดเฉียบพลันชนิด Acute Filarial Lymphangitis: AFL พบได้ไม่บ่อยนัก สาเหตุเกิดจากพยาธิที่โตเต็มวัยแล้วและกำลังจะตาย ไม่ว่าจะตายเองโดยธรรมชาติหรือตายเพราะผู้ป่วยได้รับการรักษาก็ตาม มีอาการแสดงเป็นตุ่มก้อนเจ็บขนาดเล็กขึ้นบริเวณที่พยาธิตาย หรือขึ้นตามท่อน้ำเหลืองหรือบริเวณอัณฑะด้วยก็ได้ รวมทั้งอาจส่งผลให้ระบบน้ำเหลืองฟกช้ำและโตขึ้น แต่การติดเชื้อแบบเฉียบพลันชนิดนี้จะไม่มีไข้หรือการติดเชื้อทุติยภูมิปรากฏ

    สาเหตุของโรคเท้าช้าง

    โรคเท้าช้าง เกิดจากเชื้อที่เป็นสาเหตุคือพยาธิตัวกลม โดยชนิดที่พบได้บ่อยคือ Wuchereria Bancrofti และ Brugia Malayi ซึ่งอาศัยอยู่ในคนเท่านั้น พยาธิเหล่านี้สามารถแพร่กระจายจากคนไปสู่คนโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงกัดผู้ป่วยโรคนี้ พยาธิสาเหตุโรคเท้าช้างที่มีขนาดเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าที่อยู่ในเลือดของผู้ติดเชื้อจะเข้าสู่ยุงจนทำให้ติดเชื้อ

    การป้องกันโรคเท้าช้าง

    – ทำลายยุงและแหล่งลูกน้ำ

    – ป้องกันไม่ให้ยุงกัน มุ้ง ยาทากันยุง

    – ให้รีบรักษาผู้ที่เป็นโรคนี

    การวินิจฉัยโรคเท้าช้าง

    – การตรวจปริมาณสารแอนติบอดีในเลือด เป็นวิธีการตรวจดูปฏิกิริยาจากสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดจากพยาธิโดยใช้เครื่องมือทดสอบเลือด และถือเป็นทางเลือกสำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลืองบวม ภาวะที่อาจใช้เวลาหลายปีหลังจากการติดเชื้อกว่าจะแสดงให้เห็นและการตรวจทางห้องปฏิบัติมักตรวจไม่พบเชื้อในผู้ป่วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการติดตามผลการรักษาได้ด้วย

    – การตรวจปัสสาวะ หากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อโรคเท้าช้าง แพทย์อาจส่งตรวจปัสสาวะของผู้ป่วยเพื่อตรวจดูความขุ่นคล้ายน้ำนมของปัสสาวะ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการที่ท่อน้ำเหลืองถูกปิดกั้น และตรวจหาพยาธิต้นเหตุของโรคเท้าช้างในปัสสาวะ

    – การถ่ายภาพ เป็นวิธีวินิจฉัยโดยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ตรวจดูการอุดตันของท่อน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบและถุงอัณฑะ

    การรักษาโรคเท้าช้าง

    ทำความสะอาดส่วนที่มีอาการบวมอย่างระมัดระวังด้วยสบู่และล้างด้วยน้ำสะอาดทุกวัน
    พยายามป้องกันการติดเชื้อในบริเวณที่เกิดแผลให้ดี อาจใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้หากจำเป็น
    เพิ่มการออกกำลังกายในแขนหรือขาที่บวม เพื่อให้น้ำเหลืองในร่างกายได้มีการเคลื่อนไหวและเพิ่มการไหลเวียนให้มากขึ้น

    ที่มา

    siamhealth.net

    ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ otvorenidirektorijum.com

     

Economy

  • ประธานสมาคมธนาคารไทย ประเมินสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยถึงจุดพีค
    ประธานสมาคมธนาคารไทย ประเมินสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยถึงจุดพีค

    ประธานสมาคมธนาคารไทย ประเมินสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยถึงจุดพีคแล้ว รอจับตาซอฟต์แลนดิ้ง

    นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปีว่า

    เมื่อ กนง. ไฟเขียวขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ฉะนั้นการส่งผ่านดอกเบี้ยคงต้องดูสถานการณ์ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ต่างๆ จากนี้ เพราะแต่ละแห่งมีโครงสร้างทางการเงินแตกต่างกัน โดยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้แบงก์ต่าง ๆ น่าจะรับทราบสัญญาณการส่งผ่านเรื่องดอกเบี้ยที่น่าจะพีคแล้ว ตอนนี้ต้องดูว่าจะซอฟต์แลนดิ้งอย่างไร

    นายผยง กล่าวต่อว่า สำหรับธนาคารกรุงไทยขอดูสถานการณ์ก่อนว่าเป็นอย่างไร หากธนาคารอื่นๆ ปรับดอกเบี้ยขึ้น ธนาคารกรุงไทยก็ต้องพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องดูผลกระทบกับกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้ารายย่อย และลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีด้วย

    ติดตามอ่านข่าวเศรษฐกิจได้ที่ otvorenidirektorijum.com